เพจเลี่ยงเชียง เพจธรรมะ ธรรมทาน เพจสร้างบุญ Line@MAKEBOON || makeboon2018@gmail.com
วันนี้แอดขออภัยและขออนุญาตขึ้นคำสมัยพ่อขุนรามสักเล็กน้อยนะครับ
ความจริงก็เพียงใช้เป็นประโยคเกริ่นนำเท่านั้นเอง มิได้มีเจตนาอกุศลแต่ประการใด
แท้ที่จริงกลับเป็นกุศลเจตนาคือตั้งใจสื่อความหมายเกี่ยวกับเรื่องของ "กรรม"
คำว่า "กรรม" คำนี้มันคืออะไร? เราเข้าใจคำนี้ว่าอย่างไร? แอดจึงนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง
ส่วนใดเป็นสาระมีประโยชน์ นำไปต่อยอดความคิด ช่วยเติมเต็มสติปัญญาและบารมีธรรมได้บ้าง
ขอผู้ท่านที่เคารพทุกท่านเลือกสรรเฉพาะส่วนดีดีไปนะครับ ส่วนที่ไร้สาระของให้แค่รู้ และผ่านไปก็พอ
คุณเชื่อในสิ่งใด ? คำถามที่ควรตั้งไว้ภายในตนเสมอ และต้องประกอบด้วยเหตุที่ควรเชื่อด้วยเช่นกัน
ในทางธรรม นั้น สัทธา หมายถึง สิ่งที่ควรเชื่อ, ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล, ความมั่นใจในความจริงความดี สิ่งดีงาม
และในการทำความดี ไม่ลู่ไหลตื่นตูมไปตามลักษณะอาการภายนอก
และ "กัมมสัทธา" ก็คือ ความเชื่อเรื่องกรรม ซึ่งจัดอยู่ในหนึ่งข้อของ "สัทธา" ความเชื่อ 4 อย่าง ที่สำคัญยังถูกยกเขึ้นเป็นข้อที่หนึ่งอีกด้วย
นั่นย่อมแสดงว่า "กัมมสัทธา" ความเรื่องเรื่องกรรมนี้ จะต้องมีความสำคัญมากๆ จึงตั้งให้เป็นข้อแรกในการที่ต้องศึกษากันเลยทีเดียว
1) กัมมสัทธา ความเชื่อเรื่องกรรม
2) วิปากสัทธา ความเชื่อเรื่องผลกรรม
3) กัมมัสสกตาสัทธา ความเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของตัว
4) ตคาถตโพธิสัทธา ความเชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า
เอาเท่านี้ก่อนครับ ค่อยๆ ศึกษาไปด้วยกันทีละนิด
กรรม คือ การกระทำ
กรรม หมายถึง การกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เจตนาก็คือความตั้งใจที่จะทำ
การทำอะไรก็ตาม ทำด้วยความจงใจหรือจงใจทำ จะดีก็ตาม จะชั่วก็ตาม ล้วนเรียกว่า "กรรม" ทั้งสิ้นการกระทำทีดี เรียกว่า "กรรมดี"
การกระทำที่ไม่ดี เรียกว่า "กรรมชั่ว"
แหล่งกำเนิดกรรม หรือภาษาพระท่านเรียกว่า "มูล" แปลว่า "รากเหง้า" "มูลเหตุ" "ต้นตอ"
และมูลเหตุให้เกิดกรรมท่านแบ่งเป็น 2 ประเภท เช่นเดียวกัน คือ
- มูลเหตุแห่งกรรมดี เรียกว่า กุศลมูล
- มูลเหตุแห่งกรรมไม่ดี เรียกว่า อกุศลมูล
ดังนั้น ก็แบ่งตาม 2 ลักษณะแห่งกรรมดีและไม่ดีดังนี้ คือ
กุศลมูล 3 (รากเหง้าของกุศล, ต้นตอของความดี — whole some roots; roots of good actions)
1. อโลภะ (ความไม่โลภ, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโลภะ, ความคิดเผื่อแผ่, จาคะ — non-greed; generosity)
2. อโทสะ (ความไม่คิดประทุษร้าย, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับโทสะ, เมตตา — non-hatred; love)
3. อโมหะ (ความไม่หลง, ธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กับความหลง, ปัญญา — non-delusion; wisdom)อกุศลมูล 3 (รากเหง้าของอกุศล, ต้นตอของความชั่ว — unwholesome roots; roots of bad actions)
1. โลภะ (ความอยากได้ — greed)
2. โทสะ (ความคิดประทุษร้าย — hatred)
3. โมหะ (ความหลง — delusion)
กรรม จำแนกตามคุณภาพหรือตามธรรมที่เป็นมูลเหตุ มี 2 ประเภท คือ
1) อกุศลมูล กรรมที่เป็นอกุศล กรรมชั่ว คือเกิดจากอกุศลมูล
2) กุศลมูล กรรมทีเป็นกุศล กรรมดี คือเกิดจากกุศลมูล
กรรมจำแนกตามทวาร คือ ทางที่ทำกรรม มี 3 ช่องทาง/ทวาร คือ
1) กายกรรม การกระทำทางกาย
2) วจีกรรม การกระทำทางวาจา
3) มโนกรรม การกระทำทางใจ
กรรมจำแนกตามหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ผล พระอรรถกถาจารย์ แสดงไว้ 12 อย่าง คือ
1) ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในปัจจุบันคือในภพนี้
2) อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพที่จะไปเกิดคือในภพหน้า
3) อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในภพต่อๆ ไป
4) อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
5) ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิดหรือกรรมที่เป็นตัวนำไปเกิด
6) อุปัตถัมภกกรรม กรรมสนับสนุน คือเข้าสนับสนุนหรือซ้ำเติมต่อจากชนกกรรม
7) อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้น คือเข้ามาบีบคั้นผลแห่งชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมนั้นให้แปรเปลี่ยนทุเลาเบาลงหรือสั้นเข้า
8) อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอน คือ กรรมแรงฝ่ายตรงข้ามที่เข้าตัดรอนการให้ผลของกรรมสองอย่างนั้นให้ขาดหรือหยุดไปทีเดียว
9) ครุกกรรม กรรมหนักให้ผลก่อน
10) พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมทำมากหรือกรรมชินให้ผลรองลงมา
11) อาสันนกรรม กรรมจวนเจียนหรือกรรมใกล้ตาย ถ้าไม่มีสองข้อก่อนก็จะให้ผลก่อนอื่น
12) กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักว่าทำ คือเจตนาอ่อนหรือมิใช่เจตนาอย่างนั้น ให้ผลต่อเมือ่ไม่มีกรรมอื่นให้ผล
นี่คือสาระเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับคำว่า "กรรม" ที่แอดนำมาเสนอวันนี้ หวังว่าจะพอเติมเต็ม "ปัญญาบารมี" ของทุกท่านเพิ่มขึ้นไม่มากไม่มายนัก เพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นบุญกุศลยิ่งแล้วนะครับ
แล้วพบกับสาระดีดีจากแอดได้ในบทความสั้นๆ ต่อไปนะครับ
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์, พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต), ปี พ.ศ.2546