เนื้อหาบทความ

คนโง่ทำบุญ

สิ่งที่เรียกว่า "บุญ" นี้ เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับพุทธบริษัททั้งหลาย

คนโดยมากเป็นคนโง่  ไม่รู้ว่าทำบุญนั้น คืออะไร ? ทำอย่างไร ? เพื่ออะไร ?

และก็ทำบุญโดยสักว่าเหมาๆ เอาว่าได้บุญ

เขาทำกันอย่างไร ก็ทำอย่างนั้นเหมือนเขาแล้วก็ได้บุญ

 

คำว่า "บุญ" มีความหมายชั้นสำคัญสูงสุดว่า "เป็นเครื่องชำระชะล้างซึ่งบาป"

อย่าเอาแต่ว่าเป็นเครื่องฟูงใจ  อิ่มใจ  สบายใจเลย

เพราะว่าอาจจะเป็นเรื่องผิดขึ้นมาไม่ทันรู้ตัวก็ได้

 

ผู้ที่เลี้ยงไก่  แล้วได้กินไข่ คือ ผู้ที่บำรุงศาสนา แล้วได้รับประโยชน์จากศาสนา

เรียกว่า "เป็นผู้ที่ทำบุญด้วยความรู้จักบุญ  แล้วก็ได้บุญนั้นมาจริงๆ "

 

คนทำบุญเหมือนกับอาบน้ำโคลน  ก็คือ  พวกที่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตมาทำบญให้ทาน

 

ทายกทายิกาทั้งหลาย  ที่เที่ยวแห่กันไป แห่กันมา  ทำบุญบ้านนั้นเมืองนี

วิ่งไปวิ่งมา  ขึ้นรถลงเรือนี้  คิดดูเถิดว่า  "ตัวเองทำบุญด้วยความหวังประเภทไหน ?"

 

ใครบ้างเคยทำบุญด้วยบริสุทธิ์ใจว่า "จะละความยึดมั่นถือมั่นว่า "ตัวกู" "ของกู"

คนเหล่านี้ดูจะหายากเต็มทีบนโลกนี้

 

คนเราควรจะทำบุญ คือ ทำบุญเพื่อเป็นเครื่องล้างบาปโดยแท้จริง

เหมือนกับอาบน้ำที่สะอาดแล้วว ชำระชะล้างความเข้าใจผิด  ความมัวเมา  ความหลงใหล

ความยึดมั่นถือมั่น  กำจัดให้ออกไป

 

ถ้าทำบุญเอาหน้า  มันก็เศร้าหมองด้วยทิฏฐิมานะ  กิเลส  ตัณหา

ทำบุญอวดคนอื่นอย่างนั้นอย่างนี้  มันก็มีกิเลสอวดคนนั่นเอง

เป็เครื่องเศร้าหมองขึ้นมาใหม่ทันที

 

ธรรมะ คำสั่งสอน อันเป็นธรรมะแท้ ๆ ของพระพุทธเจ้านั้น

เหมือนกับน้ำที่ไม่มีโคลน  ไม่มีตะกอน  ไม่มีเปือกตม

เมื่อเอามาอาบเช้า  มันก็ทำให้ตัวสะอาดได้  อาบน้ำชนิดนั้นแหละ  จึงจะจัดเป็นบุญที่แท้จริงได้

 

การให้ทาน  การเสียสละ  แบ่งปัน  ก็คือการรบกับกิเลส  รบกับความยึดมั่นถือมั่น

การให้ทาน คีย์หรือจุดประสงค์ที่แท้จริงนั้น  ไม่ใช่เพื่อแลกเอาสวรรค์  ไมใช่แลกเอาความสวย  ความหล่อ

ความร่ำรวย  สมบัติต่างๆ  แต่เป็นการลด กำจัดเสียซึ่งกิเลส  ความยึดมั่น

 

คนเรามีทางเลือกเสมอ

อยากลงนรก  ก็ทำบุญชนิดเหมือนอาบน้ำโคลน

อยากไปสวรรค์  ก็ทำบุญเหมือนอาบน้ำผสมแป้งหอม

อยากดับไม่เหลือ นิพพาน ก็ทำบุญเหมือนอาบน้ำที่สะอาด

จะไดัดับคำว่า "ตัวกู" "ของกู"  ดับกิเลส  ดับตัณหา

 

"อุปาทาน  ความยึดมั่นถือมั่น"  พระพุทธองค์ตรัสสอนให้ละ

จัดเป็นความยึดมั่นถือมั่นของจิตใจ  อันมีต้นสายปลายเหตุ

เกิดมาจาก  "อวิชชา"  ความไม่รู้ นั่นเอง

 

ก่อนจบให้ตรองดูเพิ่มเติม

จงระวังให้ดี  จงทำบุญให้ได้รับประโยชน์  ให้เป็นประโยชน์

คือ ให้เป็นประโยชน์อันแท้จริง เป็นบุญที่แท้จริง

อย่าได้เสียทีที่เกิดมาเป็นมนุษย์

และ พบพระพุทธศาสนาเลย

 

"อยากได้ดี  ไม่ทำดี  นั้นมีมาก

ดีแต่อยาก  หากไม่ทำ  น่าขำหนอ

อยากได้ดี  ต้องทำดี  อย่ารีรอ

ดีแต่ขอ  รอแต่ดี  ไม่ดีเลย "
 

 


เก็บสารธรรมอ่านสั้นๆ 
จากหนังสือเรื่อง "บุญที่แท้จริง"  คำสอนโดยพุทธทาสภิกขุ
เรียบเรียงสาระโดย กองบรรณาธิการสำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง เพียรเพื่อพุทธศาสน์ จำกัด