เนื้อหาบทความ

เบญจศีล เบญจธรรม

คำว่า "เบญจศีล" และ "เบญจธรรม"  มีที่มาอย่างไร ?

เบญจศีล  แยกออกเป็น  2  คำบาลี คือ

ปญฺจ  +  สีล  =  ปญฺจสีล   แปลว่า  ศีล  5  ข้อ
 

เบญจธรรม  แยกออกเป็น  2  คำบาลี  เช่นกัน  คือ

ปญฺจ + ธมฺม  =  ปญฺจธมฺม  แปลว่า  ธรรม  5  ประการ

 

เบญจศีลและเบญจธรรมนี้  จัดเป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานสำหรับปุถุชน  ที่จำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติให้ได้ในชีวิตประจำวัน

เพราะเป็นหลักแห่งความถูกต้องทางสังคม  เป็นเครื่องมือสำหรับสร้างบุคคลให้กลายเป็น  "กัลยาณชน"  แปลว่า  คนดี

หรือ  คนที่ดำรงตนตั้งอยู่ในกัลยาณธรรม คุณงามความดี สิ่งที่ถูกที่ควร ไม่ผิดต่อกฎระเบียบทางสังคม และคุณธรรม

 

เบญจศีล หรือ ศีล 5 ข้อ  คือ

ปาณาติปาตา  เวรมณี  จิตใจงดเว้นจากการฆ่า ทำร้ายสัตว์  บุคคลอื่น  ให้บาดเจ็บ ล่มตาย ทุกกรณี

อทินนาทานา  เวรมณี  จิตใจงดเว้นจากการลักทรัพย์  ฉ้อฉล กลโกง  ด้วยวิธีการต่างๆ  เพื่อให้ได้สิ่งของๆ ผู้อื่นมาโดยมิชอบธรรม

กาเมสุมิจฉาจารา  เวรมณี  จิตใจงดเว้นจากการประพฤติผิดด้านศีลธรรมประเพณีในลักษณะชู้สาวทุกกรณี

มุสาวาทา  เวรมณี  จิตใจงดเว้นจากการพูดคำเท็จ  โกหก หลอกลวง ไม่ว่าจะหวังดีหรือร้ายทุกกรณี

สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา  เวรมณี  จิตใจงดเว้นจากดื่มสุรา  เมรัย  ของมึนเมาทุกชนิด ที่เป็นต้นเหตุให้ขาดสติสัมปชัญญะ

 

เบญจธรรม  5  ประการ  คือ

เมตตากรุณา  คิดปรารถนาดีให้ผู้อื่นมีความสุข ปราศจากความทุกข์

สัมมาอาชีวะ  การทำมาหาเลี้ยงชีวิตอย่างสุจริต ไม่ผิดกฎระเบียบบ้านเมืองหรือสังคม

กามสังวร  สำรวมตน ระวังกายใจ อย่าลุ่มหลงในคู่ครองคนอื่น ยินดีในคู่ครองเฉพาะของตน

สัจจวาจา  มีความสัตย์  รักษาคำพูด  จริงใจต่อตนเองและผู้อื่น

สติสัมปชัญญะ  มีสติ  ระวัง  รอบคอบ  ตั้งตนอย่าให้ประมาทมัวเมาในการดำรงชีวิต