เนื้อหาบทความ

ธรรมะจากบทสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรว่าอย่างไร?

สารธรรมที่ได้จากการอ่านบทสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเช้าวันนี้
ขณะที่อ่าน  สวดมนต์ไปด้วย  และพยายามเก็บสาระเป็นหัวข้อๆ
ก่อนนำมาสรุปให้เพื่อนๆ ได้สงบใจใช้สายตาผ่านหัวใจตนเอง
เก็บเกี่ยวหลักธรรมะไปด้วยกัน  ขอเชิญค่อยๆ ทัศนาช้าๆ กันนะครับ

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

ที่สุดแห่งการกระทำมีอยู่ 2 ประการ

ที่บรรพชิตผู้ทรงศีลทรงธรรม

ไม่สมควรจะส้องเสพ

ดังต่อไปนี้

ประการที่หนี่ง  (กามสุขัลลิกานุโยค)

การพาตัวพาใจตนให้เข้าไปพัวพันเกี่ยวข้องจมปลั๊กอยู่ในกาม (สิ่งที่ทำให้ใคร่ ลุ่มหลง หลงไหล) ทั้งหลาย

ซึ่งทางหลักพระพุทธศาสนาท่านกล่าวว่า เป็นของต่ำทราม  มีไว้สำหรับเพศฆราวาส ชาวบ้านทั่วไป

เป็นสิ่งที่ปุถุชนสามัญยังคงติดอยู่  ไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้กลายเป็นพระอริยเจ้า  ไม่ใช่ข้อปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นใดใด

ไม่ประกอบด้วยประโยชน์สำหรับบรรพชิตเลย

ประการที่สอง (อัตตกิลมถานุโยค)

การทำตนให้เจ็บปวดทรมานทรกรรมด้วยกลวิธีต่างๆ

นำความเจ็บปวดทางร่างกายอย่างแสนสาหัสมาสู่ตน

ซึ่งวิธีนี้ไม่จัดเป็นกลวิธีสำหรับฝึกปฏิบัติตนของพระอริยเจ้า

ไม่มีประโยชน์ใดใดเลยที่จะช่วยทำให้หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งหลาย

และสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ทรงแนะนำไว้

ให้กับเหล่าบรรพชิตทั้งหลายได้รับทราบและปฏิบัติตาม ก็คือ

ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง  (มัชฌิมาปฏิปทา)

ซึ่งมีอยุ่  8  ประการ  ดังต่อไปนี้

ประการที่หนึ่ง

ความเห็นชอบ  (สัมมาทิฏฐิ)  คืออะไร ?  เป็นไฉน ?  เห็นอย่างไร  จึงจะเป็นการเห็นชอบ  ?

ก็คือ  ................

  • เห็นและเข้าใจถึงสภาพที่เรียกว่า  "ทุกข์" หรือ "สิ่งที่เป็นตัวปัญหา"  นั้น มีอยู่จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า  ทุกสรรพสิ่งที่มีการเกิด  แก่  เสื่อมสภาพ  ตาย  สูญสลาย  ก็เป็นทุกข์จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า  อารมณ์ความทุกข์โศก  ร่ำไร  รำพัน  เศร้าเสียใจ  ไม่สบายกายไม่สบายใจ  คับแค้น  เคียดแค้นใจต่างๆ  ก็ล้วนเป็นทุกข์จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า  การได้และการสูญเสียไป  ไม่ว่าจะเป็นของที่รักที่ชอบใจตนเองมากน้อยแค่ไหนก็ตาม  ก็เป็นทุกข์จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า  สิ่งที่อยากได้กลับไม่ได้  สิ่งไม่อยากได้กลับได้มา  ก็ทำให้เป็นทุกข์จริงได้เหมือนกัน
  • เห็นและเข้าใจว่า  สภาวะขันธ์ทั้งห้าของร่างกายตนนั้น  ไม่เที่ยงแท้แน่นอน  การยึดมั่นถือมั่น  ก็ทำให้เกิดทุกข์จริง
     
  • เห็นและเข้าใจถึงสภาพที่เรียกว่า "สมุทัย" หรือ "ต้นตอตัวสาเหตุ" แห่งความทุกข์นั้น  มีอยู่จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า "ต้นตอแห่งความทุกข์นั้นคืออะไร ?  ต้นนั้น  ก็คือ  ตัณหา  ความอยากของมนุษย์ " นั่นเอง
  • เห็นและเข้าใจว่า "ตัวตัณหานี้  มันเป็นบ่อเกิดแห่งความทุกข์  ก่อเกิดความกำหนัด  อยากไม่รู้จบสิ้น  ทำให้หลงงมงาย"
  • เห็นและเข้าใจว่า "ตัณหา  คือความอยาก  เช่น  ความอยากได้ อยากมี อยากเป็น,  ความไม่อยากได้  ความไม่อยากมี  ความไม่อยากเป็น
    กามตัณหา,  ภวตัณหา,  วิภวตัณหา
     
  • เห็นและเข้าใจถึงสภาพที่เรียกว่า  "นิโรธ"  หรือ  "ความดับแห่งทุกข์ "  มีอยู่จริง
  • เห็นและเข้าใจว่า "ความดับทุกข์นั้น  มีสภาพเช่นไร  ? "
  • เห็นและเข้าใจว่า "ดับทุกข์ ก็คือ สลัดมันทิ้งได้  ไม่เศร้าเสียใจสิ่งที่เกิดขึ้น  ปล่อยวาง  ระงับอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น  วางใจได้ด้วยเหตุและผลของมัน
    ไม่อาลัยอาวรณ์  ไม่หวนกลับไปสู่ปัญหาเดิมๆ ที่ทำให้เราตกอยู่ในทุกข์นั้นอีกต่อไป "
     
  • แล้วเราจะเห็นและเข้าใจ "นิโรธ" นี้  เข้าถึง "นิโรธ" นี้ได้อย่างไร ?  ด้วยวิธีใดเล่า ?  คำตอบก็คือข้อต่อไป
     
  • เห็นและเข้าใจถึงสภาพที่เรียกว่า "มรรค" หรือ "มัชฌิมาปฏิปทา"  ข้อปฏิบัติอันเป็นทางสายกลาง  ที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำสั่งสอนไว้นั่นเอง

 

สำหรับวันนี้  เราได้เข้าใจถึงหลักธรรมจากบทสวดมนต์ " ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร " เพิ่มขึ้นอีกเพียงเล็กน้อยแล้ว
แต่หากจะเข้าใจได้ครบ ก็ต้องศึกษาค้นคว้า ทดลองปฏิบัติตามด้วยตนเอง แล้วจะได้เข้าใจเองต่อไป
นี่คือ "แกนหลักสำคัญ" ของการสวดมนต์และปฏิบัติตามเพื่อให้ได้อานิสงส์แห่งการสวดมนต์ที่แท้จริง จริงๆ
โดยไม่ต้องอ้อนวอน รอคอยเทพยดาทั้งหลาย มาคอยช่วยเสก ช่วยเป่าให้เราพ้นทุกข์แต่ประการใดใด
แต่เป็นตัวเราเองที่กลายเป็นเทพ เป็นอริยบุคคล ช่วยตัวเอง
ปัดเป่าความทุกข์ให้พ้นจากตัวเองได้อย่างแท้จริง ทันที และทันใด


สำหรับวันนี้  ฝากธรรมะ ข้อคิดเล็กๆ น้อยๆ ให้กำลังใจเพียงเท่านี้
บทความหน้าเราจะมาต่อข้อต่อไปกันนะครับ

**ปล. สารธรรมจากบทสวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  และอธิบายเสริมโดย วันนา  มากมาย
**30 ส.ค.2564