เนื้อหาบทความ

ธรรมะ ข้อคิด หลักธรรมะ จากเรื่องปลาชื่อกปิละ ในหนังสือพระธัมมปทัฏฐกถาแปล ภาค 8 (หลักสูตรเปรียญธรรม 3 ประโยค)

เรื่องปลาชื่อกปิล  (น. 7-9)

ตัณหา  ดุจเถาย่านทราย   ย่อมเจริญแก่คนผู้มีปกติประพฤติประมาท. 

เขาย่อมเร่ร่อนไปสู่ภพน้อยใหญ่  ดังวานรตัวปรารถนาผลไม้อยู่โลดไปในป่า  ฉะนั้น. 

ตัณหานั่นเป็นธรรมชาติลามก  มักแผ่ซ่านไปในอารมณ์ต่าง  ๆ  ในโลก 

ย่อมครอบงำบุคคลใดได้,

ความโศกทั้งหลายย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น,  

ดุจหญ้าคมบางอันฝนตกรดแล้วเจริญอยู่  ฉะนั้น, 

แต่ผู้ใด   ย่อมย่ำยีตัณหานั่นซึ่งเป็นธรรมชาติลามก  

ยากที่ใครในโลกจะล่วงไปได้, 

ความโศกทั้งหลาย  ย่อมตกไปจากผู้นั้น

เหมือนหยาดน้ำตกไปจากใบบัว  ฉะนั้น. 

เพราะฉะนั้น   เราบอกกะท่านทั้งหลายว่า  

ความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย  บรรดาที่ประชุมกันแล้ว

ประหนึ่งผู้ต้องการแฝก    ขุดหญ้าคมบางเสีย  ฉะนั้น,

มารอย่าระรานท่านทั้งหลายบ่อย ๆ

ดุจกระแสน้ำระรานไม้อ้อ  ฉะนั้น.

 

 

บุคคลนั้นคือผู้เป็นไปในคติแห่งตัณหา   ย่อมเร่ร่อนคือแล่นไปในภพน้อยใหญ่.

ถามว่า  "เขาย่อมเร่ร่อนไปเหมือนอะไร  ?"  

แก้ว่า  "เหมือนวานรตัวปรารถนาผลไม้  โลดไปในป่าฉะนั้น." 

 

อธิบายว่า

วานรเมื่อปรารถนาผลไม้  ย่อมโลดไปในป่า,  มันจับกิ่งไม้นั้น ๆ  ปล่อยกิ่งนั้นแล้ว 

จับกิ่งอื่น,   ปล่อยกิ่งแม้นั้นแล้ว  จับกิ่งอื่น  ย่อมไม่ถึงความเป็นสัตว์ที่บุคคล

ควรกล่าวได้ว่า  "มันไม่ได้กิ่งไม้จึงนั่งเจ่าแล้ว"  ฉันใด;  

บุคคลผู้เป็นไปในคติแห่งตัณหา  ก็ฉันนั้นเหมือนกัน  เร่รอนไปสู่ภพน้อยภพใหญ่

ย่อมไม่ถึงความเป็นผู้ที่ใคร  ๆ  ควรพูดได้ว่า  

"เขาไม่ได้อารมณ์แล้ว  จึงถึงความไม่เป็นไปตามความทะเยอทะยาน."