เนื้อหาบทความ

คำว่า "สวดมนต์ภาวนา" คืออะไร ?

คำว่า "สวดมนต์ภาวนา"  แยกออกเป็นสองคำ คือ

  1. สวดมนต์  คำบาลีที่พบบ่อย ๆ ก็คือ ปริตฺต หรือ ปริตร เช่น บทรัตนปริตร  บทโพชฌังคปริตร  ซึ่งคำว่า "สวดมนต์" ก็แยกเป็น 2 คือ 
    สวด (สชฺฌายน) + มนต์  (มนฺต, ปริตฺต)  รวมกันเป็น มนฺตสชฺฌายน แปลว่า การสาธยายมนต์, การสวดมนต์  แต่จะพบบ่อยเป็นบทบาลี  เช่นว่า  ปริตฺตํ  พฺรูถ  มงฺคลํ.  เป็นต้น
  2. ภาวนา  คำบาลีก็คือ  ภู ธาตุ + ยุ ปัจจัย,  ภู -> ภว,  ภู ธาตุ แปลว่า มี, เป็น  รวมความหมายนี้คือ การทำให้มี, การทำให้เป็น,  การบำเพ็ญ, การเจริญ

 

อีกคำที่ต้องสืบค้นความหมายคือ  "ปริตร หรือ ปริตฺตพจนานุกรมไทย ฉบับทันสมัย  ซีเอ็ดยูเคชั่น, 2543. หน้า 342  กล่าวว่า 

ปริต, ปริตตะ  [ปะริด, ปะริดตะ] ว.  น้อย.   ปริตร  [ปะหฺริด]  น.  ความต้านทาน,  เครื่องป้องกัน;  พระพุทธมนต์ที่ถือกันว่า 
ขลังและศักดิ์สิทธิ์  คือ  พระพุทธมนต์ในเจ็ดตำนานและสิบสองตำนาน,  ตำนานหนึ่ง  เรียกว่า  ปริตรหนึ่ง.  ว.  น้อย

 

คำที่พบบ่อย ๆ เกี่ยวกับ "สวดมนต์"  เช่น

  • สวดมนต์ทำวัตรเช้า - เย็น
  • สวดมนต์เจ็ดตำนาน
  • สวดมนต์สิบสองตำนาน
  • สวดมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
  • สวดมนต์พระคาถาชินบัญชร
  • ฯลฯ

เหล่านี้ล้วนเป็นการผสมกันเท่านั้นว่า จะสวดมนต์บทอะไร ?  สำหรับใช้ในงานพิธีกรรมเช่นใด ?

 

แต่หัวใจที่แท้จริงเกี่ยวกับ "สวดมนต์" นั้น พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส (พระธรรมโกศาจารย์)  ได้เมตตาอธิบายว่า 
(หน้งสือสวดมนต์สามัญประจำบ้าน ฉบับพกพา,  หน้า 28-30)

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง  เราควรจะมีความเข้าใจที่ดีสำหรับคำว่า "ทำวัตร" ไม่ให้เป็นเรื่องการอ้อนวอน  บวงสรวง 
ไม่แต่งตั้งพระพุทธองค์ให้เป็นผู้รับรองการอ้อนวอน  บวงสรวง  โดยไม่รู้สึกตัว

การทำวัตรเช้าทำวัตรเย็น หรือ การสวดมนต์เช้าเย็นนั้น  ไม่ได้ทำเป็นการอ้อนวอน  บวงสรวง 
แต่เป็นไปในลักษณะที่ดีกว่า  ประเสริฐกว่า  และให้เป็นอยู่ในรูปของไตรสิกขา (ศีล  สมาธิ  ปัญญา)

  1. การทำวัตรเช้าเย็นนี้  เราต้องสำรวมระวัง  บังคับตัว  บังคับใจ  อย่างนี้เป็น ศีลสิกขา
  2. การที่เรามีจิตใจจดจ่ออยู่ในวัตถุที่เราทำวัตร  คือ  พระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์  หรือคุณของพระพุทธ  พระธรรม  พระสงฆ์ 
    นี้ก็แน่นอนว่าเป็นพุทธานุสสติ  ธัมมานุสสติ  สังฆานุสสติ  เช่นนี้เป็น สมาธิสิกขา  หรือ  จิตตสิกขา
  3. ความรู้สึกตัวในลักษณะของสัมปชัญญะ  ซึมซาบอยู่ในคุณของพระพุทธองค์เป็นต้น  ว่าเป็นอย่างไร ? 
    ในบท  "พุทฺธวารหนฺตวรตาทิคุณาภิยุตฺโต"  แสดงลักษณะที่ต้องรู้  ต้องเข้าใจ  ให้ซึมซาบแจ่มแจ้ง  นี้เป็น ปัญญาสิกขา

การทำวัตรของเรา   เหมือนกับการไปเฝ้าพระพุทธองค์เช้า-เย็นเป็นประจำ  เดี๋ยวนี้พวกเราก็ยังไปเฝ้าพระพุทธองค์จริง ๆ 
องค์แท้ที่เหลืออยู่โดยพระคุณ ในลักษณะที่ว่าธรรมะคือพระงค์  พระองค์คือธรรมะ 
"ผู้ใดเห็นตถาคต  ผู้นั้นเห็นธรรม,  ผู้ใดเห็นธรรม  ผู้นั้นเห็นตถาคต"

ดังนั้น  จึงสรุปได้ว่า  "สวดมนต์ภาวนา  การสวดมนต์  การทำวัตรสวดมนต์  สวดมนต์ทำวัตรเช้า-เย็น"  ล้วนสือความถึง "สวดมนต์
และจะสวดมนต์อย่างไร ? ให้เกิดอานิสงส์เต็มเปี่ยมก็ให้อ้างเอาข้อธรรมะหลักปฏิบัติที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อพุทธทาส


ท่านได้เมตตาอธิบายไว้แล้วนำมาปฏิบัติให้ครบองค์ "ไตรสิกขา" อานิสงส์แห่งการสวดมนต์ย่อมเต็มเปี่ยม และ
เป็นหลักปฏิบัติที่ถูกต้องจริง ๆ ของชาวพุทธศาสนิกชนทุกคนอย่างแท้จริง

 

สวดมนต์สามัญประจำบ้าน ฉบับพกพา