เนื้อหาบทความ

นิทานธรรมบท "ตำนานพระนางสามาวดี" Ep.4 กำเนิดเทพแห่งเสียงนามว่า "โฆสกเทพบุตร"

ช่วงยุคสมัยหนึ่ง  ภายในแคว้นอัลลกัปปะได้เกิดวิกฤตกาลข้าวยากหมากแพงขึ้น,

ชายหนุ่มนามว่าโกตุหลิกะคนหนึ่ง ไม่สามารถจะดำรงชีวิตอยู่ได้ต่อไป

จึงได้พาเมียนามว่านางกาลีพร้อมลูกซึ่งกำลังเล็กอยู่

ตระเตรียมเสบียงที่จำเป็นแล้วออกเดินทางไปด้วยมุ่งหวังว่า

 

                “พวกเราจักพากันไปใช้ชีวิตอยู่  ณ  เมืองโกสัมพี

 

นักปราชญ์โบราณจำพวกหนึ่ง บ้างก็กล่าวเช่นนี้ว่า

 

                “เมื่อมหาชนเสียชีวิตลงเพราะอหิวาตกโรค,

                ชายหนุ่มผู้นั้นจึงได้หนีออกไป

 

สองสามีภรรยานั้น  ขณะที่เดินทางไป,  พอเสบียงเดินทางหมดสิ้นลงแล้ว,

ก็ทำให้หิวโหยกระหายยิ่งนัก  จนไม่มีเรียวแรงกระทั่งจะอุ้มทารกน้อย

 

เช่นนั้นเอง  สามีจึงได้เอ่ยกะภรรยาขึ้นว่า

 

                “น้องนางเอ๋ย   พวกเราสองคนเมื่อยังมีลมหายใจอยู่  ยังสามารถจะมีบุตรด้วยกันอีกคนได้,

                พวกเราทิ้งลูกคนนี้  แล้วเดินทางกันต่อเถอะนะ

 

ขึ้นชื่อว่าจิตใจของผู้เป็นแม่  ช่างอ่อนโยนนัก

 

ดังนั้น  ภรรยานั้นจึงได้กล่าวขึ้นว่า

 

                “ลูกชายที่ยังมีลมหายใจอยู่เช่นนี้  ฉันไม่สามารถจะทิ้งเขาได้ลงคอหรอกนะ

 

                “เมื่อเป็นเช่นนั้น,  พวกเราจะทำอย่างไรกันดีละ ? ”  ฝ่ายสามีเอ่ยถาม

 

                “พวกเราก็มาพลัดกันอุ้มเขาซิ”  ภรรยาตอบกลับสามี

 

เมื่อถึงคราวของตน มารดาได้อุ้มลูกน้อยนั้นให้นอนแนบไว้ที่อกประดุจพวกมาลัยดอกไม้

แล้วก็มอบให้กับผู้เป็นพ่อต่อไป

 

พอมาถึงตรงจุดที่ผู้เป็นพ่อนั้นซึ่งอุ้มลูกน้อยนั้นมา  แล้ววางลงพักตรงที่พักเดินทาง

เวทนา (ความทุกข์อันเกิดจากการเดินทาง)  เกิดขึ้นอย่างรุนแรงยิ่งกว่าความหิวกระหายเสียอีก

 

เขาจึงพูดกับผู้เป็นภรรยานั้นบ่อยๆ  ว่า

 

                “น้องนางเอ๋ย  พวกเราเมื่อยังมีลมหายใจอยู่  ก็จะมีลูกชายคนใหม่ได้นะ,

                พวกเราทิ้งเขากันเถอะนะ

 

ฝ่ายภรรยานั้น  ก็ยังปฏิเสธทุกครั้งเช่นกัน  จึงไม่ได้ให้คำตอบกลับไป

 

ทารกน้อยถูกพ่อแม่ผลัดเปลี่ยนกันอุ้ม  ก็เหนื่อยล้าจนเผลอหลับไปในมือของผู้เป็นพ่อ,

ผู้เป็นพ่อนั้นพอรู้ว่าลูกชายนอนหลับไป  จึงปล่อยให้ภรรยาเดินนำหน้าไปก่อน

และแอบเอาลูกน้อยนั้นให้นอนบนกองใบไม้ภายใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง  แล้วจึงเดินทางต่อไป

 

ผู้เป็นแม่พอหันกลับมาดู  กลับไม่พบลูกชายจึงได้เอ่ยถามขึ้นว่า

 

                “พ่อเอ๋ย  ลูกชายของเราไปไหนเสียแล้วละ ?

 

                “เราให้เขานอนที่บริเวณภายใต้กอไม้แห่งหนึ่งไปแล้ว”  ผู้เป็นสามีเอ่ยตอบภรรยา

 

                “พ่อ !  พ่ออย่าทำให้เราสูญเสียเลย,  แม่อยู่ไม่ได้  ถ้าขาดลูกชายไป,

                พ่อจงกลับไปนำเขากลับมาให้แม่เถิดนะ”  ผู้เป็นภรรยาอ้อนวอน พร้อมตีอกคร่ำครวญร้องไห้เสียใจ

 

ดังนั้น  สามีจึงได้กลับไปนำเอาทารกน้อยนั้นกลับมา,

แต่ลูกชายก็ได้สิ้นลมเสียแล้วในระหว่างการเดินทางมา

 

เรื่องราวก็เป็นเช่นนี้  สามีได้ทอดทิ้งลูกชายไว้  ณ จุดเช่นนี้

เพราะผลกรรมนั้น  จึงทำให้ถูกทอดทิ้งถึงเจ็ดครั้งในชาติปัจจุบัน

 

บัณฑิตเอ๋ย (ผู้ฉลาด)  ! 

ธรรมดาว่าความชั่วนั้น  อย่าพึงดูถูกดูหมิ่นเชียวว่า

 

           “มันแค่เพียงเล็กน้อย

 

สองสามีภรรยานั้น ออกเดินทางต่อไปจนถึงตระกูลคนเลี้ยงโคตระกูลหนึ่ง

 

และในวันนั้นเอง  มีประเพณีเฉลิมฉลองให้กับแม่โคนมของนายโคบาล,

ที่เรือนของนายโคบาล  จะมีการนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้ามาฉันภัตตาหารอยู่เป็นประจำ,

นายโคบาลนั้น  พอนิมนต์ท่านให้ฉันเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็จะประกอบพิธีมงคลต่อไป,

ข้าวปายาสได้ถูกจัดเตรียมไว้อย่างเรียบร้อยเป็นจำนวนมาก,

นายโคบาลพอได้เห็นสองสามีภรรยานั้นเดินมาถึง

จึงได้เอ่ยถามออกไปว่า

 

                “พวกท่านพากันมาจากที่ไหนหรือ ?

 

ครั้นได้ฟังเรื่องราวทั้งหมด  ตนเองเป็นเชื้อกุลบุตรผู้มีจิตใจอ่อนโยน  ก็เลยได้อนุเคราะห์สองสามีภรรยานั้น

สั่งบริวารนำข้าวปายาสผสมเนยใสเป็นจำนวนมากมอบให้ทั้งสองคน

 

คนผู้เป็นภรรยาเอ่ยขึ้นว่า

 

                “พ่อเอ๋ย  เมื่อท่านยังใช้ชีวิตต่อไปได้,  ตัวเราก็ได้ชื่อว่ามีชีวิตต่อไปได้เช่นกัน,

                ท่านอดอยากหิวโหยมาเป็นเวลานาน,  ขอท่านจงทานให้อิ่มตามใจท่านเถิด

 

แล้วได้วางข้าวปายาสพร้อมเนยใสไว้ตรงหน้าของผู้เป็นสามีนั่นเอง

ส่วนตัวเองก็กินเฉพาะเนยใสชิ้นเล็กแค่หน่อยเดียวเท่านั้น

 

ฝ่ายสามีของนาง  กลับกินอาหารมากเกินไป  สาเหตุเพราะอดหิวมานานถึง ๗-๘ วัน

จนไม่สามารถจะอดกลั้นความอยากในอาหารได้เลย

 

นายโคบาล ก็สั่งให้คนยกข้าวปายาสให้กับสองสามีภรรยานั้น  เสร็จแล้วตนเองก็เริ่มจะลงกินบ้าง

นายโกตุหลิกะ กำลังนั่งมองนายโคบาลนั้นอยู่  เหลือบมองเห็นก้อนข้าวปายาสที่นายโคบาลปั้นให้เป็นก้อนแล้วส่งให้กับแม่สุนัขที่นอนอยู่ข้างใต้เตียง  ทำให้คิดว่า

 

                “แม่สุนัขตัวนี้  มันช่างมีบุญเหลือที่ได้กินอาหารเช่นนี้เป็นประจำ

 

ตกคืนนั้นเอง  นายโกตุหลิกะนั้น  ข้าวปายาสที่กินเข้าไปมันไม่ย่อย  

จึงตายไปบังเกิดในท้องของแม่สุนัขตัวนั้น

 

ณ  เวลานั้น  ภรรยาก็ได้จัดพิธีศพให้กับเขา  แล้วทำการรับจ้างอยู่ในเรือนนั้นเอง

พอได้ข้าวสารสักทะนานหนึ่ง  ก็หุงสุกทำบุญใส่บาตรถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า

พร้อมกล่าวขึ้นว่า

 

                “ท่านผู้เจริญเจ้าขา  ขอส่วนบุญนี้จึงส่งผลไปถึงทาส (สามีของตน) ของพระคุณเจ้าด้วยเถิดนะ

 

พร้อมกับคิดต่อว่า

 

                “สมควรที่เราจะอาศัยอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้แล,

                เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านมาที่นี้เป็นประจำ,

               
                จะยากดีหรือมีจนอย่างไรก็ตามเถิดนะ  (เครื่องไทยธรรมจะมีหรือไม่มีก็ตามเถิด) ,

                เราเมื่อได้กราบไหว้ ทำการรับใช้ต้อนรับต่างๆ  ทำจิตให้เลื่อมใส ในทุกๆ วัน 

                ก็จักได้บุญเพิ่มมากขึ้น

 

นางนั้นจึงได้ทำงานรับจ้างอาศัยอยู่ในตระกูลนายโคบาลนั้นนั่นเองตลอดมา

 

ครบเดือนที่ ๖ ย่างเข้าสู่เดือนที่ ๗  แม่สุนัขตัวนั้นเอง  ก็ได้คลอดลูกสุนัขออกมาตัวหนึ่ง

 

นายโคบาลสั่งคนให้เอาน้ำนมแม่โคตัวหนึ่งมอบให้กับลูกสุนัขตัวนั้นกิน,

ไม่นานนัก  มันก็เจริญเติบโตเต็มวัย

เวลานั้น  พระปัจเจกพุทธเจ้า ซึ่งนั่งฉันภัตตาหารอยู่  ได้ส่งก้อนข้าวก้อนหนึ่งให้กับมันเป็นประจำ

 

สุนัขตัวนั้น  จึงได้รักใคร่คุ้นเคยในพระปัจเจกพุทธเจ้า  เพราะได้อาศัยก้อนข้าวนั่นเอง

 

นายโคบาลได้เดินทางไปอุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าถึงที่พักสองครั้ง  เป็นประจำ,

เขาแม้เมื่อกำลังเดินทางไป พอถึงระหว่างทางตรงที่อันตรายจากสัตว์

ก็จะเอาท่อนไม้มาตีไล่ตรงกอไม้บ้าง  ตรงพื้นดินบ้าง 

ร้องส่งเสียงขู่สามครั้งว่า

 

                “สุสุ

 

ไล่พวกสัตว์ร้ายมีพิษทั้งหลายให้หนีแหกแตกกระเจิงไป

 

แม้เจ้าสุนัขเอง  ก็เดินร่วมทางไปกับนายโคบาลนั้น

 

วันหนึ่ง  นายโคบาลได้เอ่ยกับพระปัจเจกพุทธเจ้าไว้ว่า

 

                “พระคุณเจ้าผู้เจริญขอรับ

                เมื่อกระผมไม่มีเวลามาพบเอง  (เมื่อใด  โอกาสของกระผมจักไม่มี),

                กระผมจักส่งเจ้าสุนัขตัวนี้มาแทน ขอรับ (เมื่อนั้น กระผมจักส่งสุนัขตัวนี้มา),

                ขอพระคุณท่านได้โปรดรับนิมนต์มาตามสัญญาณที่สุนัขตัวกระผมส่งมานี้ด้วยเถิด

 

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  พอไม่มีโอกาส

เขาจึงส่งสุนัขไปพร้อมกำชับสั่งว่า

 

                “ไปเถิดพ่อเอ๋ย,

                เจ้าจงไปนำพระคุณเจ้ามาให้เราด้วยเถิด

 

เจ้าสุนัขนั้น  ก็วิ่งปรี๊ดไปด้วยคำสั่งเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

พอถึงที่ที่เจ้านายตีกอไม้และพื้นดิน  ก็เห่าขึ้นสามครั้ง

รู้ว่าพวกสัตว์มีพิษร้ายทั้งหลายวิ่งหนีไปแล้ว เพราะเสียงนั้น

ก็วิ่งต่อไปถึงสถานที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า 

ซึ่งได้ทำการชำระร่างกายตั้งแต่เช้าตรู่แล้ว  เข้าไปยังบรรณศาลานั่งปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว

ทำให้ท่านรู้ว่ามันเดินทางมาถึงแล้ว  ก็ไปนอนรอท่าน  ณ  จุดเหมาะ ๆ แห่งหนึ่ง

 

เมื่อได้เวลาพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ได้ออกมาแล้ว,

เจ้าสุนัขตัวนั้นก็เห่าเดินนำหน้าท่านไป,

 

ในระหว่างทางแต่ละแห่ง

พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านจะทดสอบมัน  จึงแกล้งเดินไปผิดเส้นทางอื่นบ้าง,

ทันใดนั้น  เจ้าสุนัขตัวนั้นก็เดินไปยืนขวางและเห่าเบื้องหน้าของท่าน 

พร้อมกับนำท่านกลับมาให้ถูกทางเช่นเคย

 

อยู่มาวันหนึ่ง  พระปัจเจกพุทธเจ้าท่านเดินมุ่งไปหนทางอื่น

แม้จะถูกเจ้าสุนัขตัวนั้น ยืนขวางห้ามอยู่เบื้องหน้าก็ตาม

ก็ใช้เท้าดันสุนัขออก  แล้วเดินทางต่อไป

 

เจ้าสุนัขรู้ว่าท่านจะไม่กลับแน่  จึงหันมากัดที่ชายผ้าสบงผ้านุ่ง ฉุดดึงให้ท่านกลับมาสู่เส้นทางดังเดิม

 

ด้วยกิริยาอาการเช่นนี้  เจ้าสุนัขตัวนั้น  เกิดความรักสิเน่หาในพระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นยิ่งนัก,

ถัดมาอีกไม่นาน  ผ้าจีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ขาดเก่าทรุดโทรมลง,

ดังนั้น  นายโคบาลจึงได้ถวายผ้าสำหรับใช้ทำเป็นจีวรแด่พระปัจเจกพุทธเจ้า,

พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงได้เอ่ยกะนายโคบาลนั่นเองว่า

 

                “ท่านเอ๋ย  ชื่อว่าจีวรที่ภิกษุเพียงรูปเดียวจะกระทำขึ้น  มันมิใช่เรื่องง่ายๆ เลย,

                อาตมภาพจึงจักออกเดินทางแสวงหาสถานที่เหมาะๆ  ให้ภิกษุรูปอื่นๆ ช่วยกระทำ

 

                “พระคุณท่าน  โปรดกระทำที่นี่เถิด  ขอรับ”  นายโคบาลกล่าว

 

                “มิได้ดอก  ท่าน”  พระปัจเจกพุทธเจ้าปฏิเสธ

 

                “ถ้าเช่นนั้น  ขอพระคุณท่านอย่าได้อาศัยอยู่ด้านนอกเป็นเวลานานๆ  เลยนะ  ขอรับ”  นายโคบาลกล่าว

 

เจ้าสุนัขก็ได้ยืนข้างๆ ฟังบุคคลทั้งสองสนทนากันเหมือนกัน

 

พระปัจเจกพุทธเจ้าทักท้วงว่า

 

                “ท่านโปรดหยุดเถอะนะ  อุบาสก

 

บอกให้นายโคบาลกลับไป  แล้วก็เหาะขึ้นสู่อากาศ  มุ่งหน้าเดินทางไปยังภูเขาคันธมาสทันที

 

เมื่อสุนัขได้มองเห็นท่านเหาะไปทางอากาศแล้ว  ก็ได้แต่ยืนเห่าเท่านั้นเอง,

พอเมื่อท่านลับคลองสายตาไปเสียแล้ว,

หัวใจก็แตกสลายตายลงทันที
 

...................................................................................

 

*****

จิตใจของมนุษย์ กับ จิตใจของสัตว์เดรัจฉาน นั้น

ช่างแตกต่างกันเหลือเกิน

*****

 

ธรรมดาสัตว์เดรัจฉานทั้งหลายนั้น  มันช่างมีจิตใจซื่อตรง  ไม่เคยคิดคดโกงผู้ใด,

แต่ทว่า  พวกมนุษย์เหล่า ปากกับใจไม่เคยตรงกันเลย  (ใจคิดอย่าง, ปากพูดอีกอย่าง),

 

เพราะเหตุดังกล่าวนั้นเอง  บุตรนายควาญช้างนามว่าเปสสะ  จึงชี้ให้เห็นว่า

 

                “แท้จริงแล้ว  พวกมนุษย์นั้นจิตใจรกชัฏ  ยากแท้หยั่งถึง,

                ส่วนสัตว์ทั้งหลาย  จิตใจตื้นเขิน คาดเดาง่าย ท่านเอ๋ย

 

 

เรื่องราวดังกล่าวมานี้  เจ้าสุนัขตัวนั้น  ได้ตายไปบังเกิดเป็นเทพบุตร 

ห้อมล้อมไปด้วยนางเทพอัปสร ๑,๐๐๐ องค์  เสวยมหาสมบัติ

บนสรวงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์  ก็เพราะซื่อตรงไม่คดโกงนั้นเอง

 

เสียงของเทพบุตรนั้น  เพียงกระซิบข้างหูของใครก็ตาม  จะแผ่ขยายดังไปไกลถึง ๑๖ โยชน์ทีเดียว,

แค่เสียงสนทนาตามปกติก็ยังดังกลบครอบคลุมเมืองเทพนครไปถึง ๑๐,๐๐๐ โยชน์,

ดังนั้นเอง  เทพบุตรองค์นั้น  จึงถูกขนานนามว่า  “โฆสกเทพบุตร

 

ปุจฉา (คำถาม) เกิดขึ้นว่า

                “ก็ผลบุญนั้น  มันคือผลบุญอะไรกัน ?

วิสัชนา (คำตอบ) ว่า

                “ก็เพราะมันแสดงการเห่าด้วยความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้านั่นเอง

โฆสกเทพบุตรนั้น  ได้เสวยทิพยสมบัติดำรงอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์นั้นได้ไม่นาน

ก็ได้เคลื่อนมาจุติเสียแล้ว

 

ส่วนสาเหตุที่เทพทั้งหลาย ได้เคลื่อนจุติจากสวรรค์นั้น เกิดจากอะไร ?

ขอทุกท่านโปรดติดตามในตอนต่อไปนะครับ

 

...........................................

(จบตอนที่ ๔  บาลีหน้า 8-12  จบตรง "โส ตตฺถ น จิรํ ฐตฺวา จวิ." )

<< อ่านย้อนหลังทั้งหมด คลิก