เนื้อหาบทความ

นิทานธรรมบท "ตำนานพระนางสามาวดี" Ep.1 ปฐมเหตุการณ์

เรื่องเล่าต่อไปนี้ กระผมนายวันนา  มากมาย  ผู้แปลและเรียบเรียงถ้อยคำสำนวนใหม่
ขอชี้แจงทำความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า  เรื่องราวต่างๆ ที่ยกมาเป็นการแปลจากหนังสือพระธรรมบทภาคภาษาบาลี  เล่ม ๒  (ทุติโย ภาโค)
โดยมีสำนวนที่ผู้แปลได้พยายามที่จะเล่าแบบอ่านแล้วเข้าใจง่าย  ให้ดูเป็นลักษณะหนังสืออ่านเชิงนวนิยายยาวๆ ทั่วไป
ดังนั้น อาจจะดัดแปลงสำนวนใหม่บ้างให้มีอรรถรสมากขึ้น น่าค้นหามากขึ้น เร้าใจมากขึ้น
เพื่อให้ผู้อ่านได้ติดตาม

..................


อนึ่งผู้แปลไม่เคยมีประสบการณ์หนังสือมาก่อน
แต่อยากฝึกและพัฒนางานเขียนเชิงนวนิยายอิงพุทธศาสน์
จึงได้เริ่มต้นจากจุดนี้ก่อน

ส่วนข้อผิดพลาดประการใด  ผู้แปลเองขอน้อมรับติชมทุกประการ

ขอเชิญทุกท่านจินตนาการไปพร้อมๆ กับผู้แปลกันเลยนะครับ

....................

 



ลำดับเหตุการณ์เหล่านี้  ล้วนเกิดขึ้น ณ เมืองโกสัมพี  สมัยที่พระบรมศาสดาทรงประทับอยู่ที่โฆสิตาราม 
เรื่องราวเหตุการณ์ความพินาศหายนะครั้งยิ่งใหญ่อันถึงแก่ความตาย  ของบรรดาเหล่าสตรีจำนวน ๕๐๐ คน
ซึ่งเป็นบริวารของพระนางสามาวดี  และของเหล่าญาติของพระนางจำนวน ๕๐๐ คน ซึ่งเป็นบริวารของพระนางมาคันทิยา

 

 

เริ่มต้นนับแต่อดีตกาลที่ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว

กษัตริย์หนุ่มทั้งสองพระองค์  คือ  กษัตริย์ผู้ครองแคว้นอัลลกัปปะ พระนามว่า พระเจ้าอัลลกัปปราชา  และ กษัตริย์ผู้ครองแคว้นเวฏฐทีปกะ  พระนามว่า เวฏฐทีปกราชา

 

ทั้งสองพระองค์นับถือเป็นพระสหายกันมาตลอดเวลายาวนาน นับตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ทรงรำเรียนสรรพวิชา ก็เป็นศิษย์ร่วมสำนักพระอาจารย์คนเดียวกันมาโดยตลอด

 

เมื่อเวลาผ่านไป พระราชบิดาสวรรคตแล้ว  ก็ได้ขึ้นครองเศวตฉัตร เป็นกษัตริย์ปกครองแคว้นนั้นๆ ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ประมาณได้ทิศละ ๑๐ โยชน์โดยประมาณ

 

กษัตริย์หนุ่มทั้งสองพระองค์นั้น  ไม่ว่าจะเสด็จ ณ ที่แห่งหนใด  ก็มักจะเสด็จไปพร้อมกันเสมอมา  พูดแบบภาษาบ้านๆ ก็คือ เพื่อนสนิทถึงขั้นตายแทนกันได้ก็มิปาน  ไม่ว่าจะยืน นั่ง นอน ก็จะปรากฏทั้งสองพระองค์ในเวลาและสถานที่เดียวกันเสมอมา

 

แต่ผลไม้...ย่อมมีวันสุกงอมเสมอ  เมื่อถึงเวลาของมัน

 

ด้วยผลแห่งบุญบารมีที่สั่งสมมา  ทำให้พระองค์ทั้งสองได้พบกับเหตุการณ์ที่พลิกฟ้าเปลี่ยนชะตาอย่างเหนือความคาดหมาย  เพราะได้เห็นชีวิตของมหาชนปุถุชนสามัญทั้งหลาย ที่ต้องประสบความเกิดและความตายในทุกเมื่อเชื่อวัน  จนทำให้พระองค์ทั้งสองมานั่งปรึกษาเสวนากันเพื่อหาทางออกร่วมกันว่า

 

                “ธรรมดาคนอื่นที่จะยอมตายตามคนที่ตายไปแล้วนั้น  ไม่เคยมีหรอกนะ

                กระทั่งร่างกายที่แน่ๆ ว่าเป็นของเรา  เวลาตายมันก็ไม่ได้ไปกับเราเลย

                ไม่ว่าใครก็ตามบนโลกใบนี้  เวลาตายจะต้องสลัดพลัดพรากจากสมบัติทุกสิ่งไป

                ฉะนั้น มันไม่สำคัญอะไรเลย ?  สำหรับพวกเรา  ที่จะต้องมาใช้ชีวิตอยู่เยี่ยงฆราวาสสืบไป

                มาม๊ะ  พวกเรา ไปออกบวชกันเถอะเพื่อน

 

จึงทรงสละราชสมบัติให้กับพระโอรสและพระชายา  พากันออกผนวชเป็นฤษี อาศัยอยู่ ณ ชายป่าหิมพานต์นับแต่นั้นมา (หิมวันตประเทศ)  พร้อมกันทรงปรึกษาตกลงกันไว้ว่า

 

                “พวกเรา  ได้ยินยอมสละทิ้งราชสมบัติแล้วจึงออกผนวชในครั้งนี้

                ครั้งจะพูดว่าพวกเราไม่มีความสามารถจะหาเลี้ยงชีวิตได้แล้ว  จึงหลีกมาผนวชนั้น  ก็มิใช่เลย !

                แต่ว่า  พวกเรานั้นเมื่อมาอาศัยอยู่ร่วม ณ สถานที่เดียวกัน  ก็จะดูเหมือนคนที่มิได้บวชแล้ว

                ดังนั้น จำเป็นที่พวกเราต้องแยกกันอยู่

 

                ขอเชิญท่านไปอยู่ที่ภูเขาลูกโน้นเถิดนะ

                ส่วนข้าพเจ้าจักอยู่ลูกนี้เอง

                แต่เมื่อถึงวันอุโบสถทุกๆ กึ่งเดือน

                พวกเราจึงจะมาประชุมพบหน้ากัน

 

ขณะนั้น  ทั้งสองพระองค์  จึงได้มีความคิดเห็นร่วมกันเช่นนี้ว่า

               

                “ด้วยการปฏิบัติเช่นนี้เอง  ความคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ก็จักไม่มีแก่พวกเราทั้งสอง

                ท่านควรจุดคบเพลิงบนภูเขาที่ท่านอาศัยอยู่

                ข้าพเจ้าก็จักจุดคบเพลิงบนภูเขาที่อาศัยอยู่เช่นกัน

                เพราะสัญญาณนั้นเอง  พวกเราก็จักรู้ว่าแต่ละคนนั้นยังมีชีวิตอยู่”

 

หลังจากตกลงกติกากันแล้ว  เหล่าพระดาบสทั้งสองนั้นก็ได้กระทำเช่นนั้นตลอดมา

 

..........................................................

 

กาลเวลาผันแปรเปลี่ยนไปรวดเร็วเหลือเกิน

เวฏฐทีปกดาบสก็ได้สิ้นอายุขัยลง  บุญบารมีทำให้ได้บังเกิดเป็นเทพผู้มีศักดิ์ใหญ่เหนือเทพอื่นๆ

 

ช่วงเวลานั้น  ถึงครบรอบเดือนกึ่งเดือนพอดี

 

ฝ่ายอัลลกัปปดาบสผู้เป็นสหาย  เพราะไม่ได้เห็นคบเพลิงดังเคยเห็น  ก็เข้าใจได้ทันทีว่า

 

                “พระสหายของเรา  ได้สิ้นอายุขัยลงเสียแล้ว

 

ส่วนเทพบุตรเล่า  ก็ได้ตรวจสอบสิริเทพสมบัติตน  ณ ช่วงเวลาที่บังเกิดเป็นเทพนั่นเอง

ขณะกำลังใคร่ครวญถึงผลกรรมอยู่  ก็ได้พบเห็นเรื่องราวการกระทำที่ตนได้กระทำมา

นับตั้งแต่ช่วงเวลาที่ออกผนวชเป็นฤษี (บวชเนกขัมมะ) พลันบังเกิดความคิดขึ้นว่า

 

                “บัดนี้ถึงเวลาแล้ว  เราน่าจะไปเยี่ยมเยือนพระสหายเราสักหน่อย”

 

ชั่วขณะนั้นก็หายวับอันตรธาน แปลงกายเป็นเหมือนชายผู้หลงทาง  เดินไปยังสำนักของดาบสผู้สหายตนนั้น

พอไปถึงก็ได้เข้าไปยกมือไหว้ทักทาย เสร็จแล้วยืนใกล้ๆ มุมพอเหมาะพอควรสนทนากัน

 

                “ท่านมาจากแห่งหนใดหรือ? ”  พระดาบสนั้นเอ่ยถามขึ้นมาก่อน

 

                “พระคุณเจ้าขอรับ  ตัวกระผมนั้นหลงทางมาไกลเหลือเกินขอรับ,

                ณ  สถานที่แห่งนี้  พระคุณเจ้าอาศัยอยู่แต่เพียงผู้เดียวกระนั้นหรือ ? ขอรับ

                ไม่มีใครอื่นอีกแล้วหรือ ? ”  เทพบุตรผู้ปลอมกายมา เอ่ยตอบและถามกลับ

 

                “เรามีสหายอยู่คนหนึ่งนะ”  พระดาบสตอบ

 

                “แล้วท่านนั้น อาศัยอยู่ที่ไหนหรือ ?”  เทพบุตรถามกลับ

 

                “อาศัยอยู่ที่ภูเขาลูกโน้น

                แต่อุโบสถวันนี้  สหายของเรายังไม่ได้จุดคบเพลิงเลย

                แน่แท้ว่า  สหายของเรานั้น  คงสิ้นอายุขัยเสียแล้ว”  พระดาบสตอบ

 

                “เช่นนั้นเองหรือขอรับ”  เทพบุตรถาม

 

                “ถูกต้อง  ใช่แล้วละท่าน”  พระดาบสกล่าวยืนยัน

 

                “พระคุณเจ้าขอรับ  พระสหายคนนั้น  คือกระผมเองขอรับ”  เทพบุตรเฉลย

 

                “แล้วท่านไปบังเกิด ณ ที่ภพภูมิใดละ ?”  พระดาบสถาม

 

                “ณ  เทวโลก ขอรับ  กระผมได้ไปบังเกิดเป็นเทพราชาผู้มีศักดิ์ใหญ่

                ที่กลับมาใหม่อีก  ก็ตั้งใจว่า  จะมาเยี่ยมพระคุณเจ้านี่แหละ  ขอรับ

                ว่าแต่ว่า  ช่วงที่พระคุณเจ้าอาศัยอยู่ ณ สถานที่แห่งนี้

                ไม่ทราบมีความขัดข้องอันตรายสิ่งใดบ้างไหม? ขอรับ”  เทพบุตรกล่าวถาม

 

                “อืม...ก็มีอยู่นะท่าน

                ข้าพเจ้าอยู่ลำบากพอดี  ก็เพราะพวกช้างๆ”  พระดาบสกล่าว

 

                “ก็พวกช้างทำอะไรให้ท่านไม่สบายใจหรือขอรับ ?”  เทพบุตรสอบถาม

 

                “พวกมันคอยถ่ายอุจจาระทิ้งเรี่ยราดบริเวณที่กวาดแล้ว

                ชอบเอาเท้าเขี่ยตะกุยฝุ่นฟุ้งไปทั่ว

                ข้าพเจ้านั้น  เมื่อคอยเอามูลช้างไปทิ้ง  ปรับพื้นดินให้ราบเรียบเช่นเดิม  จึงทำให้ลำบาก”  พระดาบสกล่าว

 

                “ดังนั้น ท่านจึงไม่อยากให้ช้างเหล่านั้นมาอีกใช่ไหม ?  ขอรับ”  เทพบุตรถาม

 

                “ใช่แล้วละ ท่าน”  พระดาบสกล่าวยืนยัน

 

                “ถ้าเป็นเช่นนั้น  กระผมจะทำไม่ให้ช้างเหล่านั้นมา”  เทพบุตรตอบ  แล้วจึงได้ให้พิณหัสดีกันต์และมนต์หัสดีกันต์แก่พระดาบสไว้ใช้งาน

 

และแล้ว ขณะที่ยกพิณและสอนมนต์ให้  ก็ได้ดีดพิณ ๓ สาย พร้อมสอนมนต์ ๓ บท อธิบายวิธีใช้ดังนี้ว่า

               

                (บทที่ ๑) เมื่อท่านดีดพิณสายนี้  ก็ให้ร่ายมนต์บทนี้นะ

                ช้างทั้งหลาย ไม่สามารถแม้แต่จะเหลียวกับมามอง  หนีไป

 

                (บทที่ ๒) เมื่อท่านดีดพิณสายนี้  ก็ให้ร่ายมนต์บทนี้นะ

                ช้างทั้งหลาย  สามารถเหลียวกลับมามองข้างหลัง  หนีไป

 

                (บทที่ ๓)  เมื่อท่านดีดพิณสายนี้  ก็ให้ร่ายมนต์บทนี้นะ

                ช้างพญาจ่าโขลง  จะน้อมหลังต่ำลงมาหาทันที

 

                แล้วกล่าวต่อว่า

 

                “ขอท่านพึงกระทำตามสิ่งที่ท่านชอบใจเถิด ขอรับ

 

เสร็จแล้วจึงยกมือไหว้พระดาบสก่อนจากลาไป

 

พระดาบสก็ได้ร่ายมนต์ดีดพิณไล่พวกช้างให้หนีไป  อยู่อาศัย ณ ที่นั้นสืบมา

 

………………………………………………….

 

(จบตอนที่ ๑  บาลีหน้า 1-3  จบตรง "ปหริตฺวา  หตฺถี  ปลาเปตฺวา  วสิ." )