เนื้อหาบทความ

"ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" หรือ "ธมฺมจกฺกปฺปวตฺตนสุตฺตํ" คืออะไร ? สำคัญอย่างไร ?

สาระที่สำคัญ คือ

  • ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  แปลว่าอย่างไร ?
  • เนื้อหาสาระที่สำคัญในบทธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้คืออะไร ?
  • บุคคลสำคัญในทางพระพุทธศาสนาคนแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์จากการได้รับฟังคือใคร ?

 

ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  แปลว่า  พระธรรมเทศนาว่าด้วยการยังล้อแห่งพระธรรมให้หมุนไป

เป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์แรก ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศพระศาสนา

ซึ่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่นักบวชปัญจวัคคีย์  (ผู้มีพวกจำนวน ๕ คน) 

ณ  ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

ในวันเพ็ญเดือน  ๘  (อาสาฬหบูชา)

เนื้อความแห่งพระธรรมเทศนาได้กล่าวถึง  "ที่สุดโต่ง ๒  ทาง"  ที่ผู้หวังพ้นทุกข์ไม่ควรปฏิบัติ  คือ

  1. การประกอบตนให้พัวพันอยู่ในกาม  (กามสุขัลลิกานุโยค)
  2. การบำเพ็ญตนด้วยการทรมานร่างกาย  (อัตตกิลมถานุโยค)

เพราะทั้ง  ๒  ทางนี้  ไม่ใช่หนทางแห่งการตรัสรู้  เป็นของเลวทราม  (หีโน)  ไม่ควรเสพ  และ
ได้ทรงแสดง  "ทางสายกลาง"  คือ  "มรรคมีองค์   ๘ "  ว่าเป็นหนทางแห่งการพ้นทุกข์  (อริยฏฺฐงฺคิกมคฺโค)  และ
ทรงยืนยันว่า เมื่อพระองค์ดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ นี้แล้ว  ทำให้พระองค์รู้แจ้งอริยสัจ  คือ ความจริงอันประเสริฐ ๔  ประการ  (อริยสัจ ๔)  คือ

  1. ทุกข์
  2. สมุทัย  (เหตุให้เกิดทุกข์)
  3. นิโรธ  (ความดับทุกข์)
  4. มรรค  (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์)

เมื่อทรงรู้แจ้งอริยสัจ ๔ นี้แล้ว  พระองค์ได้ทรงทบทวนตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนด้วยปริวัฏฏ์ ๓,  อาการ ๓๒  จนแน่พระทัยว่า
"พระองค์ได้ตรัสรู้สิ้นทุกข์แล้วจริง"  จึงได้ประกาศพระองค์ว่าเป็น  "พระสัมมาสัมพุทธเจ้า"

เมื่อพระองค์แสดงธรรมจบลง  "พระอัญญาโกณฑัญญะ"  ได้ดวงตาเห็นธรรม  และขอบวชเป็นภิกษุองค์แรกในโลก
ทำให้วันนั้นมี  "พระรัตนตรัย"  ครบ ๓  ประการ  คือ  พระพุทธรัตนะ  พระธรรมรัตนะ  และพระสังฆรัตนะ

"พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร"  จึงถือเป็นพระสูตรที่มีความสำคัญในฐานะเป็น "ปฐมเทศนา"  ที่จุดประกายแสงแห่งพระธรรม
ให้เจิดจำรัสในกาลต่อมา  แลทำให้เกิดพระสงฆ์ผู้เป็นองค์พยานรับรองการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า และเป็นประจักษ์พยานว่า
"ธรรมที่พระองค์ตรัสรู้นั้น  มีผู้สามารถและตรัสรู้ตามได้"

 

"บทสวดธัมมจักกัปปวัตตสูตร"  เป็นบทสวดที่เป็นไปเพื่อการอบรมปัญญาให้เข้าใจหลักการของการตรัสรู้อย่างชัดแจ้ง
และเป็นข้อปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่ความพ้นทุกข์  ดังนี้แล้ว  ผู้สวดพึงสวดด้วยความตั้งใจและใช้สติปัญญา  พิจารณาไปตามเนื้อหาของบทสวด
ค่อย ๆ ทำความเข้าใจ  ไตร่ตรอง  พิจารณาหลายสิบรอบ  หลายสิบหน  ร้อยหน  พันหน  แล้วจักเกิดปัญญาสามารถแก้ไขปัญหา
แลเอาชนะทุกข์ในระดับเล็ก ๆ  จนถึงระดับ "ดับทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้"

จากหนังสือ "สวดมนต์มหามงคล  เสริมโชค  สุขภาพ"  หน้า 27-28   รายละเอียดหนังสือคลิกที่นี่ Click

สวดมนต์มหามงคล เสริมโชค สุขภาพ