เนื้อหาบทความ

นรกและสวรรค์เห็นได้ก่อนตายจริงหรือ?

พระพุทธศาสนาแบ่งภพภูมิไว้ ๓๑ ภพภูมิ ได้แก่

  • พรหมโลก ๒๐
  • สวรรค์ ๖
  • มนุษย์ ๑
  • สัตว์เดรัจฉาน ๑
  • อสุรกาย ๑
  • เปรต ๑
  • นรก ๑

คำว่า “ภพ” กับ “ภูมิ” มีความหมายต่างกัน

  • ภพ หมายถึง โลกหรือสถานที่อยู่อาศัย
  • ภูมิ หมาย ระดับชั้นของจิตที่พอเหมาะแก่การไปเกิดในภพนั้นๆ แปลให้เข้าใจง่ายๆ คือ คุณภาพของจิต

การที่คนเราจะไปเกิดในภพไหนนั้น ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิตเป็นสำคัญว่าอยู่ในภูมิไหน เช่น คนที่มีจิตที่เต็มไปด้วยโทสะ เป็นจิตที่เหมาะแก่การไปเกิดในนรก พอตายไปก็ไปเกิดในนรก เป็นต้น

การอธิบายเรื่องภพภูมินี้ สามารถอธิบายได้ ๓ มติ คือ

1) อธิบายในแง่ข้ามภพข้ามชาติ คือทำชั่วทำดีแล้ว จะไปตกนรกหรือขึ้นสวรรค์ ต่อเมื่อตายแล้ว

2) อธิบายในแง่ที่เห็นผลในชาตินี้ เช่น คนที่เสพยาบ้าแล้วถูกจับ หรือสุขภาพทรุดโทรม หรือคนที่ตั้งใจเรียน มีความรู้ จบออกไปได้งานดีเงินดี เป็นต้น

3) อธิบายในแง่หนึ่งความคิดหนึ่งขณะจิตหมายความว่า ในหนึ่งขณะจิตนั้น จิตของเรามีสภาพเป็นอย่างไร

ถ้ามีอาการร้อนรุ่ม กระวนกระวาย หงุดหงิด เหมือนกับถูกไฟเผา จัดได้ว่าขณะนั้นจิตเรากำลังอยู่ในนรก

ถ้าจิตใจของเราคิดเรื่องลามก คิดในเรื่องกามทำผิดแล้วปกปิดความผิดเอาไว้กลัวคนอื่นได้รู้ จัดได้ว่าอยู่ในภูมิของอสุรกาย

ถ้าจิตคิดโลภอยากได้ของของคนอื่น ที่ไม่ใช่ของตน และคิดค้นหาวิธีให้ได้มาในทางมิชอบ ขณะนั้นจัดได้ว่า อยู่ในภูมิของเปรต

ถ้าจิตตกอยูาอำนาจของความกลัว หวาดหวั่นต่ออันตราย หรืออยู่ในสภาพหลงงมงาย ไม่รู้จักแยกแยะชั่วดี ขณะนั้นจัดว่าอยู่ในภูมิของเดรัจฉาน

แต่ถ้าจิตเรื่องทำบุญ ให้ทาน ระลึกถึงคุณความดีเช่น ความกตัญญูกตเวที ศีล ๕ การไม่เบียดเบียนกัน จัดว่าอยู่ในภูมิของมนุษย์

ถ้าขณะจิตใดมีความสุขกับการได้เสพกามคุณที่ชื่

นชอบก็ดี คิดนึกละอายต่อการทำความชั่วทั้งต่อหน้าและลับหลังก็ตาม จัดว่าอยู่ในภูมิเทวดา

ถ้าจิตตกอยู่ในภาวะของสมาธิ มีสุขจากการทำสมาธิ จัดว่าอยู่ในภูมิของพรหม

ดังนั้น ในวันหนึ่งๆ ให้เราสังเกตดูใจของตนให้ดี อย่าให้ตกอยู่ในภูมิ นรก เปรต อสุรกาย
สัตว์เดรัจฉา ด้วยการไม่โกรธ ไม่โลภ ไม่กลัว ไม่หลงงมงาย

จงรักษาจิตของตนให้ตั้งอยู่ในทางแห่งสัมมาทิฏฐิ ไม่คิดโกรธ คิดให้อภัย ไม่คิดโลภ คิดให้ทานแบ่งปัน เป็นต้น เพื่อให้ใจของเราอยู่ในภูมิ มนุษย์ สวรรค์ พรหม เถิด

#แชร์ไปได้บุญเพิ่มพูนธรรมทานบารมีแก่ตน
#การให้ธรรมะเป็นทานชนะการให้ทั้งปวง