เนื้อหาบทความ

มนต์พิธีพิเคราะห์ ตอน1 ทำไมถึงชื่อหนังสือมนต์พิธี

สำหรับพระภิกษุสามเณรและชาวพุทธศาสนิกชนทั้งหลายตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน หนังสือที่ใช้สำหรับสวดมนต์ พิธีกรรมต่างๆ ในสังคมไทย ติดหูติดตาและใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็คือ หนังสือสวดมนต์ "มนต์พิธี" โดยพระครูอรุณธรรมรังษี หรือหลวงปู่เอี่ยม สิริวณฺโณ ผู้เป็นต้นตำรับแห่งหนังสือสวดมนต์ ท่านสังกัดวัดอรุณราชวราราม คณะ 3 เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ

จากหัวข้อวันนี้ "ทำไม ? ถึงชื่อหนังสือมนต์พิธี" โดยผู้เขียนขอตั้งสมมติฐานเพื่อพิเคราะห์ เจาะหาแก่นความคิด ข้อคิด ธรรมะแฝง ที่ผู้รวบรวมบทสวดมนต์ได้รวมไว้ เพื่อนำเสนอและหาสาระประโยชน์ มิได้มุ่งสิ่งอกุศลแต่ประการใดทั้งสิ้น

คำว่า "มนต์พิธี" แยกออกเป็น 2 คำ คือ มนต์ กับ พิธี ฯ มนต์ ตรงกับบาลีว่า "มนฺต" แปลว่า "ปรึกษา,ท่อง,บ่น,ภาวนา" ฯ พิธี ตรงกับบาลีว่า "วิธิ" แปลว่า "วิธี, พิธี, รูปแบบ, ประเภท" ฯ

สิ่งที่น่าคิดเกี่ยวกับคำศัพท์ก็คือ

  • 1) หากเขียนเป็นบาลีว่า มนฺตวิธิ  จะแปลว่า วิธีแห่งมนต์, วิธีแห่งการสวด หมายถึง วิธีสวดมนต์
  • 2) หากเขียนเป็นบาลีว่า วิธิมนฺต จะแปลว่า มนต์แห่งพิธีการ หมายถึง บทสวดมนต์สำหรับพิธีการต่างๆ

ถึงจะเขียนและแปลได้ 2 แบบอย่างไรก็ตาม แต่ก็สรุปให้เข้าใจทางเดียวกันก็คือ "บทสวดมนต์สำหรับใช้ในงานพิธีกรรมต่างๆ" ที่ถูกบรรจุอยู่ในหนังสือ "มนต์พิธี" เล่มนี้นั่นเอง เพราะจากที่ได้รับทราบข้อมูลผู้รวบรวม (พระเดชพระคุณหลวงปู่เอี่ยม) ท่านได้รวมบทสวดมนต์ที่ใช้ในพิธีกรรมทั้งหมดมาไว้ในหนังสือเล่มนี้ การจัดรูปแบบ สารบัญ หมวดหมู่สวดมนต์ อาจจัดได้ตรงกลุ่มเดียวกันบ้าง สลับกลุ่มบ้าง ก็เพราะสาเหตุคือท่านได้ทำบทใดก่อนก็บันทึกก่อน ส่วนบทที่มาทีหลังก็จะต่อๆ กันมานั่นเอง และนี่คือจุดประสงค์ที่ว่า "ทำไม? เรียงบทไม่ตรงกลุ่มกัน ทำไม? บทนี้เอามาว่างต่อท้าย แต่เวลาสวดกลับไปสวดก่อน อะไรประมาณนี้" หากได้เข้าใจว่าเป็นการรวมบทสวดมนต์ไว้ ก็จะเข้าใจจุดนี้ทันที ส่วนการจะแยกหมวดหมู่บทสวดมนต์เพื่อให้ตรงกับพิธีกรรมที่ต้องการ ก็ต้องแยกและทำหนังสือใหม่อีกเล่มทันทีต่อไป

สรุปคำว่า "มนต์พิธี" มีความหมาย 2 แบบ คือ

  • 1) วิธีสำหรับสวดมนต์, พิธีการเกี่ยวกับการสวดมนต์
  • 2) บทสวดมนต์สำหรับพิธีกรรมต่างๆ ในทางศาสนา

 


บันทึก "มนต์พิธีพิเคราะห์" โดยวันนา มากมาย 20 พ.ค.2565