เนื้อหาบทความ

ลำดับขั้นตอนพิธีบวชเป็นสามเณร

พิธีบวช คำว่าบวช มาจากคำว่า ป+วชฺ แปลว่าเว้นทั่ว คือเว้นจากกาม
ในที่นี้หมายถึงบวชเป็นสามเณรและบวชเป็นพระภิกษุเท่านั้น
จุดมุ่งหมายในการบวชก็คือ การปฏิบัติตนเพื่อถอนออกจากความทุกข์ และทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือความดับทุกข์
อย่างไรก็ตาม การบวชได้แม้เพียงชั่วคราวก็นับว่าดี เพราะนอกจากเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนาแล้ว
อย่างน้อยก็ยังเป็นเหตุให้รู้จักฝึกหัด ความอดทน และความเสียสละอย่างมาก อาจทำให้เข้าถึงพุทธธรรมได้

 

สามเณร แปลว่าผู้เป็นเชื้อสายแห่งสมณะ เมื่อเป็นสามเณรแล้วต้องถือศีล 10 คือ

  1. เว้นจากการฆ่าสัตว์ทั้งมนุษย์และเดรัจฉาน
  2. เว้นจากการลักทรัพย์
  3. เว้นจากเสพเมถุนธรรม
  4. เว้นจากการพูดเท็จ
  5. เว้นจากการดื่มสุราและเมรัย
  6. เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล
  7. เว้นจากการฟ้อนรำขับร้องและการบรรเลงตลอดถึงการดูการฟังสิ่งเหล่านั้น
  8. เว้นจากการทัดทรงดอกไม้ การใช้ของหอมเครื่องประเทืองผิว
  9. เว้นจากการนอนที่นอนสูงใหญ่และยัดนุ่นสำลีอันมีลายวิจิตร
  10. เว้นจากการรับเงินทอง

ปัจจะเวกขะณะ คือการพิจารณาจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช
ตลอดถึงวัตรที่ควรศึกษา อันเกี่ยวด้วยมารยาทคือเสขิยวัตร 75 ข้อด้วย

สถานที่ทำพิธี  เป็นกุฏิของพระอุปัชฌาย์ผู้ให้บวชก็ได้
เป็นโรงอุโบสถก็ได้  มีพระอันดับตั้งแต่ 4 รูปขึ้นไปก็ได้  ไม่มีก็ได้

 

ผู้บวช  ต้องปลงผม  โกนคิ้ว  โกนหนวด  ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาดหมดจด
และข้อสำคัญต้องว่าไตรสรณคมน์ให้ชัดถ้อยชัดคำเพราะความเป็นสามเณรจะสำเร็จได้ก็ด้วยไตรสรณคมน์เท่านั้น

 

หัวข้อสำคัญที่ผู้จะบวชต้องจดจำ คือ

  1. ให้บิดามารดาหรือผู้ปกครองพาไปหาเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์
  2. ท่องคำขอบวช ไตรสรณคมน์และศีล 10 ให้ได้ด้วยตนเอง
  3. หมั่นฝึกซ้อมพิธีการ เช่น การกราบ เป็นต้น