เนื้อหาบทความ

"คำบูชาพระรัตนตรัย" แปลบทสวดมนต์บาลี-ไทย แบบยกศัพท์ ครั้งที่1

วันนี้ผู้เขียนมีความตั้งใจว่าต่อจากนี้อยากใช้ความรู้ด้านภาษาบาลีเพื่อนำมาเขียนบทความ และยึดบทสวดมนต์เป็นไกด์ในการนำเสนอ ดังนั้น จึงขอนำบทสวดมนต์ต่างๆ ไม่ว่าจะมีโบราณาจารย์ปราชญ์ผู้แปลไว้ดีแล้วอย่างไรก็ตาม ก็ให้นับว่าท่านได้แปลไว้ดียิ่งแล้วเป็นเบื้องต้น ส่วนสำหรับผู้เขียนมีความประสงค์นำเสนอในอีกแขนงความรู้หนึ่งเท่านั้นเอง คือ การแปลตามหลักบาลีไวยากรณ์ ซึ่งใช้วิธีแปลแบบยกศัพท์ เติมคำศัพท์บาลีที่ขาดหาย เพื่อให้ผู้อ่านได้หลักภาษา และเรียนรู้ไวยากรณ์ไปด้วยกัน ปูพื้นฐานการแปลทีละคำศัพท์ 

สำหรับการแปลบาลีนั้น สรุปเป็นลำดับได้  9  ขั้น คือ

1. อาลปนะ   มี 2 ประเภท คือ อาลปนะนาม และ อาลปนะนิบาต  เริ่มต้นให้แปลอาลปนะนามก่อน แล้วจึงแปลอาลปนะนิบาตต่อไป

2. นิบาตต้นประโยค/ต้นข้อความ  เช่น  หิ  จ ปน กิร ขลุ สุทํ สเจ ยทิ เจ อถ  เป็นต้น

3. ประธาน  นามนามที่ประกอบปฐมาวิภัตติ หรือ ตุํ ยุ ปัจจัย

4. ขยายประธาน ซึ่งจะวางด้านหน้าตัวประธานเสมอ

5. ประโยคแทรก มี 2 รูปแบบคือ ประโยคอนาทร และ ประโยคลักขณะ ถ้ามีก็ให้แปลได้เลย ก่อนจะไปแปลกิริยาเป็นลำดับถัดไป

6. กิริยาในระหว่าง  คือกิริยาเล็กของประโยค ที่มาจาก กิริยากิตก์ เป็นหลัก มีกี่คำ ก็แปลจนกว่าจะหมด เรียงไปตามลำดับ

7. ขยายกิริยาในระหว่าง จะวางอยู่ด้านหน้ากิริยาในระหว่างเสมอ อยู่หน้ากิริยาตัวใด ก็แปลต่อจากกิริยาตัวนั้นๆ จนจบ

8. กิริยาคุมพากย์ หรือ กิริยาจบประโยค มี 2 ประเภท คือ กิริยาอาขยาต และ กิริยากิตก์บางตัวที่ใช้คุมพากย์ได้ เช่น ต อนีย ตพฺพ ปัจจัย

9. ขยายกิริยาคุมพากย์ ก็เช่นเดียวกันคือวางไว้ด้านหน้ากิริยาคุมพากย์ และแปลต่อจากกิริยาคุมพากย์

นี่คือโครงสร้างหลักสำหรับการแปลภาษาบาลี ไม่ว่าจะอยู่ส่วนใดก็หนีหลักการทั้ง 9 ข้อนี้ไม่พ้น ดังนั้น จึงให้แนวคิดและวิธีแปลเบื้องต้นเป็นแนวทางสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ไว้ดังนี้ ต่อไปจะได้จับหลัก วิธีการแปลได้เอง

 

คำบูชาพระรัตนตรัย

อรหํ  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  ภควา,

อิเมหิ  สกฺกาเรหิ  ตํ  ภควนฺตํ  อภิปูชยามิ .

สฺวากฺขาโต  ภควตา  ธมฺโม,

อิเมหิ สกฺกาเรหิ  ตํ  ธมฺมํ  อภิปูชยามิ .

สุปฏิปนฺโน  ภควโต  สาวกสงฺโฆ,

อิเมหิ  สกฺกาเรหิ  ตํ  สงฺฆํ  อภิปูชยามิ .

แปลยกศัพท์

ประโยคที่ 1

ภควา อ.พระผู้มีพระภาคเจ้า  อรหํ  เป็นผู้ห่างไกลจากกิเลส  สมฺมาสมฺพุทฺโธ  เป็นผู้ตรัสรู้ชอบแล้วด้วยพระองค์เอง  โหติ  ย่อมเป็น,

ประโยคที่ 2

อหํ อ.ข้าพเจ้า อภิปูชยามิ  ขอบูชาอย่างยวดยิ่ง  ตํ  ภควนฺตํ  ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์นั้น  อิเมหิ  สกฺกาเรหิ  ด้วยเครื่องสักการะ ท. เหล่านี้  ฯ

ประโยคที่ 3

ธมฺโม  อ.พระธรรม  ภควตา  สฺวากฺขาโต  เป็นธรรมอันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสไว้ดีแล้ว  โหติ  ย่อมเป็น,

ประโยคที่ 4

อหํ อ.ข้าพเจ้า อภิปูชยามิ  ขอบูชาอย่างยวดยิ่ง  ตํ  ธมฺมํ  ซึ่งพระธรรม  นั้น  อิเมหิ  สกฺกาเรหิ  ด้วยเครื่องสักการะ ท. เหล่านี้  ฯ

ประโยคที่ 5

สาวกสงฺโฆ  อ.หมู่แห่งพระสาวก  ภควโต  ของพระผู้มีพระภาคเจ้า  สุปฏิปนฺโน  เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว  โหติ  ย่อมเป็น,

ประโยคที่ 6

อหํ อ.ข้าพเจ้า อภิปูชยามิ  ขอบูชาอย่างยวดยิ่ง  ตํ  สาวกสงฺฆํ  ซึ่งหมู่แห่งพระสาวก  หมู่นั้น  อิเมหิ  สกฺกาเรหิ  ด้วยเครื่องสักการะ ท. เหล่านี้  ฯ

สาระเสริม

1. พระสงฆ์  คือ  พระอริยสงฆ์ และ พระสมมติสงฆ์

2. เครื่องสักการะ คือ อามิสบูชา และ ธัมมานุธัมมปฏิปัตติบูชา

3. สุปฏิปนฺโน  ปฏิบัติดีแล้ว หมายถึง ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย


เขียนโดย วันนา มากมาย เมื่อ 15 มี.ค.2565