เนื้อหาบทความ

ธรรมะคลายทุกข์และพุทธวิธีสร้างสุข (พระราชธรรมวาที, ชัยวัฒน์ ธมฺมวฑฺฒโน)

สำรวมอินทรีย์  มีสติไม่เผลอ


อันสรรพกิเลสเหตุแห่งทุกข์ ล้วนมีวิธีที่จะสกัดกั้นและป้องกันได้ ด้วยสังวรระวังอินทรีย์ให้สงบ คือ

  • ตา ระวังเรื่องการดู
  • หู ระวังเรื่องการฟัง
  • จมูก ระวังเรื่องการดมกลิ่น
  • ลิ้น ระวังเรื่องการลิ้มรส
  • กาย ระวังเรื่องการสัมผัส
  • ใจ ระวังเรื่องการรับรู้อารมณ์

 

พึงระวัง  คือ

  • สติสังวร ต้องมีสติควบคุมอินทรีย์เสมอทุกขณะไป
  • ญาณสังวร มีความรู้เท่าทันอารมณ์ที่มากระทบ
  • ขันติสังวร มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ที่สัมผัส
  • วิริยะสังวร มีความพากเพียรต่อการละกิเลส

 

ปิดหูข้างซ้าย

ปิดตาสองข้าง

ปิดปากเสียบ้าง

นอนนั่งสบาย

 

เห็นช้างขี้อย่าไปขี้ตามช้าง

ตัวเราใหญ่เช่นช้างกระนั้นหรือ

ขืนเบ่งอย่างช้างจะครางฮือ 

ก้นจะฉีกถึงสะดือแน่ละโวย

 

เมื่อมั่งมีมากมายมิตรหมายมอง

เมื่อมัวหมองมิตรมองเหมือนหมูหมา

เมื่อไม่มีหมดมิตรมุ่งมองมา

เมื่อมอดม้วยแม้หมูหมาไม่มามอง

อย่าทำตัวเท่าเสางาเท่าพ้อม

 

อย่าลืมว่า

  • มีเงินมีทองเจรจาได้
  • มีไม้มีไร่ปลูกเรือนงาม
  • อยากร่ำรวยต้องขยัน
  • อยากมีหลักฐานต้องประหยัด
  • เศรษฐกิจนอกบ้านคือการหาอัฐ 
  • เศรษฐกิจในบ้านคือการประหยัด
  • ถ้ามีเกินใช้-ได้เกินเสีย อย่างนี้ = รวย
  • หากเสียเกินได้-ใช้เกินมี อย่างนี้ = จน

 

ประเภทรับมือซ้าย-จ่ายมือขวา นี่แหละที่มาของปัญหาสารพัด

ฉะนั้น อย่าสุรุ่ยสุร่ายในการใช้จ่าย

ควบคุมความต้องการมิให้เกินพิกัด

ต้องรู้จัก "คิดก่อนควัก" โดยยึดหลักว่า

 

  • อย่าถือดีมีทรัพย์เที่ยวจับแจก
  • เหมือนเกี่ยวแฝกมุงป่าพาฉิบหาย
  • ใครจะช่วยตัวเราก็เปล่าดาย
  • อย่ามักง่ายเงินทองของสำคัญ

 

อย่าจ่ายหมดจะลำบาก อย่าจ่ายมากจะยากจน

จะขยายผลถึงการเป็นหนี้

เพราะ 

  • ทลิทฺทิยํ  ทุกฺขํ  โลเก. ความจนเป็นทุกข์ในโลก
  • อิณาทานํ  ทุกฺขํ  โลเก. ความเป็นหนี้เป็นทุกข์ในโลก

เพราะเงินนั้น ท่านว่า "เป็นมิตรเมื่อยามกู้ แต่จะเป็นศัตรูเมื่อยามทวง"

 


จากหนังสือ "ธรรมะคลายทุกข์และพุทธวิธีสร้างสุข" 

โดย พระราชธรรมวาที  (ชัยวัฒน์  ธมฺมวฑฺฒโน)